ข้อบังคับ
ของสมาคมช่างโลหะเฟืองเหนือ
 
หมวดที่ ๑ ความทั่วไป
 
ข้อ ๑. สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมช่างโลหะเฟืองเหนือ
ย่อว่า ล.ฟ.น.
เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Metal North Gear Association
ย่อว่า M.N.G.
 
ข้อ ๒. เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นรูป ทั่ง ค้อน และเฟือง
มีความหมายว่า
ทั่งและค้อน = เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการขึ้นรูป เปรียบเสมือนการสั่งสอนของครูบาอาจารย์
เฟือง = การขับเคลื่อนมิตรภาพระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง เพื่อนร่วมรุ่น
รูปของเครื่องหมายสมาคม
ข้อ ๓. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๒๑/๑  ม.๗  ต.คลองข่อย  อ.ปากเกร็ด  จ.นนทบุรี
 
ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อ
๔.๑ เพื่อช่วยเหลือสมาชิก สมาคมช่างโลหะเฟืองเหนือ
๔.๒ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องช่างโลหะเฟืองเหนือ
๔.๓ เพื่อตอบแทนสังคมและทดแทนบุญคุณของแผ่นดินไทย
๔.๔ เพื่อดำเนินการ หรือร่วมกับองค์กรการกุศลเพื่อการกุศล และองค์การสาธารณประโยชน์เพื่อสาธารณประโยชน์
๔.๕ โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
 
หมวดที่ ๒ สมาชิก
 
ข้อ ๕.  สมาชิกของสมาคมมี ๒ ประเภท คือ
๕.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่เคยศึกษาหรือจบการศึกษาจาก วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวะช่างกล พระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตพระนครเหนือ
๕.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคม
 
ข้อ ๖. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
๖.๑ เป็นผู้ที่ได้เคยศึกษาสถาบันแห่งนี้
๖.๒ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
๖.๓ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
 
ข้อ ๗. ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาชิก
๗.๑ สมาชิกสามัญตลอดชีพ จะต้องเสียค่าบำรุงสมาชิกครั้งเดียว จำนวน ๕,๐๐๐ บาท
๗.๒ สมาชิกสามัญรายปี จะต้องเสียค่าบำรุงสมาชิกปีละ ๓๕๐ บาท
๗.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าบำรุงสมาชิก
 
ข้อ ๘. การสมัครเป็นสมาชิก ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคม ต่อเลขานุการ หรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมาย โดยมีกรรมการอย่างน้อย ๑ คน รับรองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ แล้วนำเสนอให้ประธานพิจารณา เมื่อประธานพิจารณาว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติครบถ้วน ก็ให้ลงนามอนุมัติ รับเข้าเป็นสมาชิกสมาคม สมาชิกจะมีสิทธิและหน้าที่ตามข้อบังคับ โดยทั้งนี้ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบ
 
ข้อ ๙. ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าบำรุงสมาชิกภายใน ๓๐ วัน นับแต่ที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการ หากไม่ชำระภายในกำหนดให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก
 
ข้อ ๑๐. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมได้มาถึงยังสมาคม
 
ข้อ ๑๑. สมาชิกภาพของสมาชิกจะสิ้นสุดด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
๑๑.๑ ตาย
๑๑.๒ ขาดคุณสมบัติสมาชิก
๑๑.๓ ลาออก โดยแจ้งเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ และการแสดงเจตนาจะมีผล นับตั้งแต่วันที่หนังสือนั้นได้รับโดยนายทะเบียนสมาคม
๑๑.๔ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบของสมาคม หรือกระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสมาคมฯ หรือประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียแก่สมาคมฯ และคณะกรรมการสมาคมช่างโลหะเฟืองเหนือ มีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียง ๒ ใน ๓ ของคณะกรรมการฯ และเมื่อได้ดำเนินการแล้วให้รายงานให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ
๑๑.๕ ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ออก
 
ข้อ ๑๒. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
๑๒.๑ มีสิทธิเสนอความคิดเห็น รับรองข้อเสนอ อภิปรายสนับสนุนหรือคัดค้าน ตั้งข้อซักถามเกี่ยวกับกิจกรรมของสมาคมช่างโลหะเฟืองเหนือ ออกเสียงลงคะแนนเพื่อลงมติในเรื่องต่างๆ ๑๒.๒ มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการ หรือได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของสมาคมฯ
๑๒.๓ มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากสมาคม
๑๒.๔ มีสิทธิตรวจสอบทะเบียนสมาชิก เอกสาร และบัญชีรายรับ-รายจ่ายของสมาคมช่างโลหะเฟืองเหนือ
๑๒.๕ มีหน้าที่เข้าร่วมประชุมตามวาระที่สมาคมช่างโลหะเฟืองเหนือกำหนด
๑๒.๖ มีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคมอันชอบด้วยกฎหมาย และข้อบังคับของมติในที่ประชุมใหญ่
๑๒.๗ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกิจกรรมของสมาคม
๑๒.๘ มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของสมาคม และไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสมาคม หรือประพฤติตนให้เป็นที่เสื่อมเสียต่อสังคมและสมาคม
 
หมวดที่ ๓ การดำเนินกิจการสมาคม
 
ข้อ ๑๓. ให้คณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย ๘ คน อย่างมากไม่เกิน ๒๐ คน คณะกรรมการนี้ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และให้ผู้ที่ได้เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม ๑ คน และอุปนายก ๒ คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสมาคมตามที่กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้
 
๑๓.๑ นายกสมาคม
๑๓.๑.๑ เป็นประธานในการประชุมต่างๆ และควบคุมการประชุมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
๑๓.๑.๒ เป็นผู้ประสานงานและกำกับการดำเนินงานของคณะกรรมการสมาคม ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามวัตถุประสงค์แนวนโยบาย และบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
๑๓.๑.๓ เป็นตัวแทนของสมาคมช่างโลหะเฟืองเหนือ ในการร่วมทำกิจกรรมต่างๆกับองค์กรภายนอก
๑๓.๑.๔ ลงนามในหนังสือสัญญาต่างๆ ตามคำสั่งของสมาคม
๑๓.๑.๕ เป็นผู้แทนของสมาคม ปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจของสมาคม
๑๓.๑.๖ เป็นผู้ประสานผลประโยชน์ภายในกรรมการ และองค์กรภายนอก
๑๓.๑.๗ ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือมติของที่ประชุมใหญ่ และคณะกรรมการ
 
๑๓.๒ อุปนายก
๑๓.๒.๑ ช่วยเหลือหรือกระทำการแทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
๑๓.๒.๒ กำกับและประสานงานตามที่ได้รับจัดสรรหน้าที่จากนายกสมาคมให้สำเร็จลุล่วงตามแผนงาน
 
๑๓.๓ เลขานุการ
๑๓.๓.๑ บริหารงานของสมาคม ตามระเบียบข้อบังคับฯ และดำเนินการตามคำสั่ง หรือมติของที่ประชุมใหญ่และคณะกรรมการ
๑๓.๓.๒ ดำเนินการจัดเตรียมการประชุมต่างๆ และเป็นผู้จัดทำบันทึกรายงานการประชุม
๑๓.๓.๓ แจ้งผลการประชุมให้สมาชิกทราบ และส่งสำเนารายงานการประชุมใหญ่ รายงานรายรับ-รายจ่าย ต่อที่ประชุมใหญ่ ประจำปี
๑๓.๓.๔ เสนอควบคุมดูแล และรับผิดชอบงานด้านเอกสาร หนังสือเชิญ ประกาศต่างๆ และบันทึกรายงานการประชุมของสมาคม ที่จะติดต่อกับสมาชิก กรรมการ บุคคล และองค์กรภายนอก
๑๓.๓.๕ จัดทำรายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินการของสมาคม เสนอต่อนายกสมาคม เพื่อแถลงต่อที่ประชุมใหญ่
 
๑๓.๔  เหรัญญิก
๑๓.๔.๑ รับผิดชอบการรับ-จ่าย และรักษาเงินของสมาคม
๑๓.๔.๒ จัดเตรียมรายงานแถลงฐานะการเงินเสนอต่อคณะกรรมการเป็นรายเดือน และเพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่
๑๓.๔.๓ รับผิดชอบการรับ-จ่าย และรักษาเงินกองทุน ที่ได้รับจากการบริจาค หรือการประมูลของสมาชิก
 
๑๓.๕ ปฏิคม
๑๓.๕.๑ มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคม
 
๑๓.๖  นายทะเบียน
๑๓.๖.๑ รับสมัครและจัดทำทะเบียนสมาชิกของสมาคม
๑๓.๖.๒ จัดระบบสารบรรณข้อมูลประวัติกรรมการ และสมาชิกของสมาคม
๑๓.๖.๓ เป็นผู้จัดทำบัตรแสดงตัวให้สมาชิกของสมาคมในการประชุมใหญ่
๑๓.๖.๔ รายงานสถานะภาพจำนวนสมาชิกของสมาคม เข้าหรือลาออก เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมาคม
 
๑๓.๗  ประชาสัมพันธ์
๑๓.๗.๑  รวบรวมผลดำเนินงานข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากประธาน รองประธานทั้ง 3 ฝ่าย เลขาธิการ ฯลฯ เพื่อเผยแพร่ให้กับสมาชิก
๑๓.๗.๒  จัดทำเอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆให้กับสมาชิก และองค์กรภายนอก
๑๓.๗.๓  รวบรวมผลงานของสมาคม นำเสนอรายงานต่อเลขาธิการ เพื่อนำเสนอต่อประธานฯ และที่ประชุมใหญ่ตามลำดับ
 
ข้อ ๑๔. การอยู่ในตำแหน่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งวาระละ ๓ ปี หากกรรมการคนใดพ้นจากตำแหน่งก่อนพ้นวาระ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม หรือแต่งตั้งผู้ได้รับคะแนนรองลงมาจากการเลือกตั้ง ขึ้นเป็นกรรมการแทนในตำแหน่งที่ว่าง เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ตนแทน ภายในกำหนดระยะเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันที่กรรมการคนนั้นพ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่วาระของการเป็นกรรมการเหลือไม่ถึง ๖๐ วัน
 
ข้อ ๑๕.  ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น
 
ข้อ ๑๖.  กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้คือ
๑๖.๑ ตาย
๑๖.๒ ลาออก
๑๖.๓ เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล
๑๖.๔ ได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
๑๖.๕ ที่ประชุมใหญ่มีมติไม่ไว้วางใจ
๑๖.๖ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ หรือมติใดๆของที่ประชุมใหญ่อันชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการอันนำความเสื่อมเสียให้แก่สมาคม และคณะกรรมการ ๒ ใน ๓ มีมติให้งดการปฏิบัติหน้าที่และที่ประชุมใหญ่มีมติให้ออก
๑๖.๗ ไม่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่า ๓ ครั้ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร และที่ประชุมคณะกรรมการได้พิจารณาเหตุผลแล้ว โดยให้นายทะเบียนของสมาคมมีหนังสือแจ้งให้กรรมการที่พ้นจากการเป็นกรรมการทราบด้วย
 
ข้อ ๑๗.  กรรมการที่ประสงค์จะลาออก ให้ยื่นหนังสือลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทน หรือกรรมการที่เหลืออยู่ และการแสดงเจตนาจะมีผลตั้งแต่วันที่หนังสือนั้นไปถึงนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทน หรือกรรมการที่เหลืออยู่ และให้บุคคลดังกล่าวแจ้งการลาออกของกรรมการต่อที่ประชุมกรรมการที่จะมีในคราวต่อไป พร้อมทั้งแจ้งให้นายทะเบียนฯทราบด้วยในกำหนดไม่เกิน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือลาออก
 
ข้อ ๑๘. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
๑๘.๑ มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
๑๘.๒ มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
๑๘.๓ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
๑๘.๔ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
๑๘.๕ มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
๑๘.๖ มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
๑๘.๗ มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน ๑ ใน ๕ ของสมาชิกทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
๑๘.๘ มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
๑๘.๙ จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
๑๘.๑๐ มีหน้าที่อื่นๆตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
 
ข้อ ๑๙. คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยให้จัดขึ้นตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

ข้อ ๒๐. การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึง จะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๒๑. ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
 
หมวดที่ ๔ การประชุมใหญ่
 
ข้อ ๒๒. การประชุมใหญ่ของสมาคมมี ๒ ชนิด คือ
๒๒.๑ ประชุมใหญ่สามัญ
๒๒.๒ ประชุมใหญ่วิสามัญ
 
ข้อ ๒๓. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีๆละ ๑ ครั้ง ภายในเดือน เมษายน ของทุกๆปี
 
ข้อ ๒๔. การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๕ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด
 
ข้อ ๒๕. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้รับทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบลวงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่
 
ข้อ ๒๖. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
๒๖.๑ แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี และแถลงกิจกรรมที่จะมีขึ้นในปีถัดไป
๒๖.๒ แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
๒๖.๓ เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
๒๖.๔ เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
๒๖.๕ เรื่องอื่นๆ ถ้ามี
 
ข้อ ๒๗. ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกเข้าร่วม ประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของสมาคม เรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจาการร้องขอของสมาชิก ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ ๒๘. การลงมติต่างๆในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๒๙. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
 
หมวดที่ ๕ การเงินและทรัพย์สิน
 
ข้อ ๓๐. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำ ฝากไว้ในธนาคารออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข้อ ๓๑. การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทน ลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขานุการ พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ ๓๒. ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการและคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ ๓๓. ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (ห้าพันบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อ ๓๔. เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ ๓๕. ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ ๓๖. ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการ และสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถาม เกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ ๓๗. คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ
 
หมวดที่ ๖ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ ๓๘. ข้อบังคับสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ ๓๙. การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ ๔๐. เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมทีเหลืออยู่หลักจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของสาธารณะกุศลตามที่คณะกรรมการสมาคมมีมติ
 
หมวดที่ ๗ บทเบ็ดเตล็ด
 
ข้อ ๔๑. การตีความข้อบังคับของสมาคม หากเป็นที่สงสัยให้ที่ประชุมใหญ่โดยเสียงข้างมากของที่ประชุมชี้ขาด

ข้อ ๔๒. ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคมมาใช้บังคับ เมื่อข้อบังคับของ สมาคมมิได้กำหนดไว้ และหากมีข้อบังคับใดขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ให้ถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ข้อ ๔๓. สมาคมต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมเอง
 
หมวดที่ ๘ บทเฉพาะกาล
 
ข้อ ๔๔. ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ ๔๕. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ
 
   (นายสมเกียรติ วิจิตรพนมศิลป์)
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้